จากการศึกษาครั้งนี้ได้มีการกำหนดจุดสำคัญ ๆ ในกระบือ  โดยจุดที่สำคัญมี 18 จุด         ถูกกำหนดโดยผู้เชี่ยวชาญ และผู้ตัดสินการประกวดกระบือระดับประเทศ จุดที่กำหนด และระยะที่วัด เป็นจุดที่วัดได้ง่ายและมีความแม่นยำ  เช่น ความสูง และเส้นรอบอก ปุ่มกระดูกที่สามารถมองได้จากภายนอกอาจทำให้เกิดปัญหาถ้าใช้เครื่องสแกน 3 มิติ เนื่องจากการหาปุ่มกระดูกทำได้ลำบากเมื่อมองผ่านทางหน้าจอคอมพิวเตอร์ จึงมีการติดสติ๊กเกอร์ที่มีสีขาวสลับดำตรงตำแหน่งที่ต้องการวัด  เพื่อระบุตำแหน่งได้ชัดเจนเมื่อทำการสแกน   ตำแหน่งดังกล่าวทั้ง 2  ข้าง คือ บริเวณหัวไหล่กลางกระดูกสะบัก  ปุ่มกระดูกหัวไหล่  ปุ่มบนกระดูกเชิงกรานส่วนหน้า (point of ilium) ซึ่งเรียกว่า ปุ่มกระดูกสะโพก    และก้นกบ หรือปุ่มบนกระดูกเชิงกรานส่วนหลัง (point of ischium)   อย่างไรก็ตามในการวัดสัดส่วนกระบือเป็นที่ทราบว่าจุดต่าง ๆ เหล่านี้ถ้าทำการวัดด้วยสายวัดและไม้บรรทัดจะกระทำได้อย่างลำบาก  และใช้เวลานาน ดังนั้น การใช้เครื่องสแกน 3 มิติที่พัฒนามาจากเครื่องสแกน 3 มิติในคนจึงมีประโยชน์อย่างมาก เนื่องจากสามารถวัดได้หลายตำแหน่งพร้อมกันในเวลาอันรวดเร็ว และไม่จำเป็นต้องเข้าไปสัมผัสตัวสัตว์

จากการหาความสัมพันธ์ระหว่างการวัดด้วยสายวัดและไม้บรรทัด และการวัดด้วยเครื่องสแกน 3 มิติที่จุดต่าง ๆ ตามที่กำหนดพบว่า การใช้เครื่องสแกน 3 มิติมีความถูกต้องแม่นยำสูง       โดยค่าสัมประสิทธิ์ของสหสัมพันธ์สูงมากที่ตำแหน่งเส้นรอบอก ช่วงไหล่ ความกว้างสะโพก ความยาวของลำตัว ความยาวของสะโพกถึงก้นกบ ความยาวหาง และค่าที่วัดจากเขา จึงเชื่อได้ว่าเครื่องสแกน 3 มิติสามารถใช้แทนการวัดด้วยสายวัดและไม้บรรทัดได้  อย่างไรก็ตามความกว้างฐานเขาไม่พบความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นผลมาจากการมองฐานเขาที่ติดกับกระหม่อมจากเครื่องสแกน 3 มิติไม่ชัดเจน เพราะไม่มี marker ติดอยู่  ดังนั้นการทดลองการศึกษานี้จึงมีความเชื่อมั่นสูงในการใช้เครื่องสแกน 3 มิติในการวัดค่าความยาวของจุดต่าง ๆ ต่อไป

ค่าเฉลี่ยที่ได้จากกระบือเพศผู้ พบว่าไม่ว่าจะเป็นจุดวัดใด ๆ จะมีค่าเพิ่มขึ้นตามอายุ โดยเฉพาะความสูง  เส้นรอบอก  ความกว้างสะโพก ความกว้างบั้นท้าย ความยาวจากไหล่ถึงสะโพก ไหล่ถึงปุ่มกระดูกท้าย ความยาวที่วัดได้จะชะลอลงเมื่ออายุ 4-5 ปีขึ้นไป แสดงให้เห็นว่าการเจริญเติบโตของกระบือเพศผู้จะชะลอลงเมื่ออายุประมาณ 4-5 ปี ซึ่งสอดคล้องกับการแบ่งประเภทการประกวดกระบือ ได้แก่ รุ่นเล็ก (อายุไม่เกิน 4 ปี)  และรุ่นใหญ่ (อายุมากกว่า 4 ปี)  นอกจากนี้  จากการศึกษาที่ผ่านมา  การทำนายน้ำหนักตัวในกระบืออายุ 2-4 ปี พบว่าน้ำหนักตัวจะมีความสัมพันธ์กับสัดส่วนของร่างกาย (12) ซึ่งแสดงว่าน้ำหนักกระบือจะเพิ่มสูงขึ้นที่อายุ 2-4 ปี อย่างไรก็ตาม  ถ้าพิจารณาถึงระดับสมบูรณ์พันธุ์เต็มที่ (Puberty) ของกระบือ จะพบว่าฮอร์โมนเพศอยู่ในระดับสมบูรณ์ประมาณ 15-40 เปอร์เซ็นต์ของกระบือเพศผู้ทั้งหมดที่ศึกษาที่มีอายุเฉลี่ย 30 เดือน  และ 25-35 เปอร์เซ็นต์ในกระบือเพศเมียที่มีอายุเฉลี่ย 32-37 เดือน และกระบือจะโตเต็มที่เมื่ออายุ 5 ปี (7 )

สำหรับกระบือเพศเมียให้ผลในแนวทางเดียวกันโดยพบความสูง เส้นรอบอก ความกว้างสะโพก ความกว้างบั้นท้าย ความยาวจากไหล่ถึงสะโพก ความยาวจากไหล่ถึงปุ่มกระดูกท้าย และความยาวหาง เพิ่มสูงขึ้นตามอายุ แต่จะชะลอลงในอายุที่เร็วกว่าเพศผู้ คือช่วงอายุ 3-4 ปี   เส้นรอบวงเข่า (knee) ในเพศเมียไม่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเหมือนเพศผู้ ซึ่งอาจเกี่ยวเนื่องกับน้ำหนักตัวในเพศเมียที่มีโครงสร้างเล็กกว่า และน้ำหนักน้อยกว่าจึงไม่พบการเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ การชะลอความยาวจุดต่าง ๆ ของลำตัวก็สอดคลัองกับสนามประกวดกระบือที่แบ่งกระบือเป็นอายุเป็นรุ่นเล็กอายุน้อยกว่า 3 ปีและรุ่นใหญ่มากกว่า 3 ปี เมื่อพิจารณาเขากระบือเพศเมียให้ผลเช่นเดียวกับเพศผู้คือความกว้างกลางเขา เส้นรอบวงเขา และเส้นจากเขาบนมุมกระหม่อมจะมากขึ้นตามอายุ

จากการศึกษาของ Chantalakhana และคณะ (1984) (1) พบว่า เพศผู้โตเต็มที่มีน้ำหนัก 520-560 กิโลกรัม เพศเมีย มีน้ำหนัก 360-400 กิโลกรัม เมื่อกระบืออายุมากกว่า 5 ปี เมื่อศึกษาแบบคละเพศ พบว่าค่า  heart girth หรือเส้นรอบอกมีค่า 170 – 210 เซนติเมตร มีความยาวลำตัว 130-147 เซนติเมตร และมีความสูง 120-138 เซนติเมตร ค่าที่ได้ใกล้เคียงกับการศึกษาครั้งนี้โดยมีค่าอยู่ระหว่างกระบือเพศผู้และเพศเมีย โดยกระบือเพศผู้จะมีค่าเฉลี่ยสูงกว่ากระบือเพศเมียมาก อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาของ ประสบ บูรณมนัส (9) พบกระบือพ่อพันธุ์มีน้ำหนักมากกว่า  คือมีน้ำหนักถึง 580-910 กิโลกรัม โดยมีความสูง 129-143 เซนติเมตร เส้นรอบอก 192-220 เซนติเมตรและความยาวลำตัว  89-100 เซนติเมตร ซึ่งใกล้เคียงกับค่าที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้  ยกเว้นความยาวลำตัวกลับมีค่าใกล้เคียงกับความยาวจากกระดูกไหล่ถึงปุ่มกระดูกสะโพกซึ่งอาจเป็นผลจากการวัดความยาวลำตัวโดยใช้ตำแหน่งที่ต่างกัน  ส่วน กุลภัทร์ และเทอดศักดิ์ (2553) (15) ได้ศึกษาในกระบือปลักเพศผู้ที่มีอายุระหว่าง 4 – 6 ปี จากการประกวดในงานกระบือแห่งชาติหลายครั้งที่ผ่านมาจำนวน 130 ตัว พบว่า น้ำหนักเฉลี่ย 757.88 + 117.22 (532 – 986) กิโลกรัม ความสูงเฉลี่ย 145.85 + 6.76 (130 -184) เซนติเมตร เส้นรอบอกเฉลี่ย 221.64 + 14.00 (138 – 255) เซนติเมตร และความยาวลำตัวเฉลี่ยเท่ากับ 165.33 + 20.94  (102 – 248) เซนติเมตร   ซึ่งข้อมูลที่ได้ดังกล่าวมีค่ามากกว่าข้อมูลที่ได้จากการศึกษานี้ ทั้งนี้เป็นผลเนื่องจากเป็นข้อมูลที่ได้จากกระบืองามที่ส่งเข้าประกวด   นอกจากนี้ ผลการศึกษาในกระบือลูกผสมระหว่างกระบือปลักและกระบือมูร่าห์  พบว่ากระบือลูกผสมจะมีน้ำหนักตัวมากกว่ากระบือมูร่าห์ (16)   อย่างไรก็ตามในการศึกษานี้ไม่ได้ทำการวัดกระบือลูกผสม มูร่าห์แต่อย่างใด

จากการศึกษากระบือเพศเมียที่ตั้งท้องโดยไม่ได้แบ่งแยกอายุ เปรียบเทียบระหว่างกระบือที่ตั้งท้องอ่อน (ท้องน้อยกว่า 4 เดือน)  กระบือที่ตั้งท้องมากกว่า  4 เดือนขึ้นไป  และกระบือที่ไม่ได้ตั้งท้อง  พบว่าไม่มีความแตกต่างของค่าวัดจากจุดต่างๆ อย่างมีนัยสำคัญ ยกเว้นเส้นรอบอกซึ่งขยายขึ้นในกระบือท้องมากกว่า 4 เดือน  ผลการศึกษาครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าน้ำหนักของกระบือเพศเมียที่อุ้มท้องมากกว่า 4 เดือน เพิ่มขึ้น โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงของรูปร่างตามความยาว         ค่าความกว้างของบั้นท้ายเพิ่มขึ้นเช่นกันแต่ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาในครั้งนี้  อายุเฉลี่ยของกระบือที่ตั้งท้องมากกว่า 4 เดือนขึ้นไป มีค่ามากกว่ากระบือท้องอ่อนและกระบือไม่ตั้งท้อง (8.03, 5.40 และ 5.65 ปี ตามลำดับ) ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้เส้นรอบอกยาวกว่ากลุ่มดังกล่าว  ส่วนจุดวัดอื่น ๆ ของร่างกาย ได้แก่ หางและเขา  ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

ในประเทศเวียดนามมีการศึกษาถึงความกว้างและความยาวของเขาโดยมิได้แบ่งเพศ  พบว่าเส้นรอบวงเขามีค่า 56.2 เซนติเมตร ซึ่งมีค่าใกล้เคียงกับของเพศเมียในประเทศไทย ส่วนค่าอื่นมีค่าน้อยกว่ากระบือปลักไทยทั้งเพศผู้และเพศเมียทั้งสิ้น (8)    ทั้งนี้อาจเป็นผลจากการศึกษาในกระบือที่อายุต่างกัน สำหรับเขาของกระบือในประเทศไทยไม่มีผู้ศึกษาอย่างจริงจังว่าเขาเช่นใดเป็นเขาที่สวยงาม แต่มีเขาที่นิยมสำหรับกระบือปลักไทยคือเขาอุ้มบาตร เขาวงพระจันทร์ และเขาคันช้อน (17)     นอกจากนี้ ในการศึกษาครั้งนี้พบว่า ทั้งสองเพศ ความกว้างกลางเขา และความยาวเขา มีค่ามากขึ้นตามอายุสอดคล้องกับการทำนายของปราชญ์ชาวบ้านโดยประมาณอายุจากจำนวนร่องเขาที่จะเพิ่มขึ้น 1 ร่องเมื่ออายุเพิ่มขึ้น 1 ปี

ในการศึกษาครั้งนี้ค่าที่บ่งชี้กระบือสวยหรือกระบืองามมาจากการให้คะแนนของปราชญ์ในพื้นที่แต่ละจังหวัดและนักวิชาการ  พบว่านักวิชาการและปราชญ์ให้คะแนนความงามของกระบือใกล้เคียงกัน โดยมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ   ค่าการประเมินในเพศผู้ทั้งรูปร่างทั่วไป หัวและคอ ส่วนหน้า ส่วนลำตัว และส่วนท้ายและอวัยวะสืบพันธุ์  มีค่าใกล้เคียงกันมาก  ส่วนในเพศเมียปราชญ์และนักวิชาการให้คะแนนใกล้เคียงกันโดยมีนัยสำคัญทางสถิติทุกส่วนของลำตัว ยกเว้นอวัยวะสืบพันธุ์ของเพศเมีย     บ่งชี้ว่าการประเมินความงามของกระบือทั้งเพศผู้และเพศเมียของปราชญ์และนักวิชาการมีหลักการให้คะแนนที่คล้ายคลึงกัน ทั้งนี้ อาจเป็นผลมาจากภูมิปัญญาที่ได้รับการถ่ายทอดมาอย่างต่อเนื่อง  ดังนั้นในการศึกษาครั้งนี้จึงกำหนดค่าความงามกระบือจากคะแนนรวมเฉลี่ยของนักวิชาการและปราชญ์ที่ให้กระบือแต่ละตัว แล้วนำไปหาค่าความสัมพันธ์กับจุดต่าง ๆ ที่ได้จากการวัด   โดยหาความสัมพันธ์แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ กระบือเพศผู้ที่อายุน้อยกว่า 4 ปี และมากกว่า 4 ปี  กระบือเพศเมียอายุน้อยกว่า 3 ปีและมากกว่า 3 ปี

ในกระบือเพศผู้อายุน้อยกว่า 4 ปีพบว่าทุกจุดที่ทำการวัดมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับคะแนนความงามที่ตัดสินโดยนักวิชาการและปราชญ์ ยกเว้นเส้นรอบวงเขา และเส้นจากเขาถึงมุมกระหม่อม พบค่าความเชื่อมั่น (R2) สูงสุดที่ตำแหน่งที่เส้นรอบวงเข่า รองลงมาคือ ความสูงของลำตัว ความยาวของลำตัว และความยาวจากไหล่ถึงสะโพก บ่งชี้ว่านักวิชาการและปราชญ์มองกระบือพ่อพันธุ์เพศผู้อายุน้อยกว่า 4 ปี โดยพิจารณาจากความยาวของลำตัว ความสูงและข้อเข่า (knee)  ซึ่งมองเห็นได้ตั้งแต่เมื่ออายุยังน้อย  ถ้าจะประเมินความงามให้ได้สูงสุดจะใช้เส้นรอบวงเข่าและความสูงมาประเมินร่วมกัน ซึ่งจะได้ความเชื่อมั่น 0.57  และถ้าเพิ่มความยาวเขา จะได้ค่าความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นเป็น 0.65  อย่างไรก็ตาม ถ้าเพิ่มตัวแปรอีก 1 จุด เป็น 4 จุด พบค่าความเชื่อมั่นสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย (0.67) ดังนั้น มีเพียงสามจุดวัดเท่านั้นที่ถูกนำมาใช้ประเมินกระบืองามเพศผู้อายุน้อยกว่า 4 ปี  ทั้งนี้สอดคล้องกับผลการศึกษาที่พบการเพิ่มขึ้นของเส้นรอบวงเข่าที่มีการเพิ่มขึ้นตามอายุในเพศผู้ แสดงให้เห็นว่า ถ้าข้อเข่ามีขนาดใหญ่ จะมีแนวโน้มที่จะสัมพันธ์กับขนาดโครงสร้างร่างกายในอนาคต  เป็นที่น่าสังเกตว่า เขาในกระบือเพศผู้อายุน้อยกว่า 4 ปี เป็นส่วนหนึ่งที่ใช้ในการประเมินกระบืองามเพศผู้ของปราชญ์และนักวิชาการ

ในกระบือเพศผู้ที่อายุมากกว่า 4 ปี  พบว่าค่าความเชื่อมั่นสูงสุดเมื่อใช้ตัวแปรเส้นรอบอก (0.70) และรองลงมา คือ ความกว้างสะโพก ช่วงไหล่ ตามลำดับ  ค่าความเชื่อมั่นจะได้สูงถึง 0.85 เมื่อใช้เส้นรอบอก และความกว้างสะโพก  เมื่อทำการเพิ่มตัวแปรที่สาม คือ ความกว้างปลายเขา พบว่ามีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นอีก  (0.89)  และถ้าเพิ่มถึงสี่ตัวแปรจะทำให้ความเชื่อมั่นในการทำนายความงามสูงถึง 0.92 จึงสรุปได้ว่าเพศผู้ที่โตแล้วปราชญ์และนักวิชาการจะมองถึงเส้นรอบอก และความกว้างสะโพกเป็นสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานเกณฑ์การตัดสินและการให้คะแนนร่างกาย (14) โดยพบว่าการให้คะแนนส่วนหน้า ได้แก่ ไหล่ และอก รวมกันเป็น7 คะแนน และคะแนนส่วนท้าย สะโพก ก้น และกระดูกเชิงกรานรวม 10 คะแนน

สำหรับเพศเมียที่อายุน้อยกว่า 3 ปี  พบว่าการดูกระบืองามทำได้ยากไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างความงามที่ให้คะแนนโดยนักวิชาการและปราชญ์กับค่าที่วัดได้จากจุดต่าง ๆ ของเครื่องสแกน 3 มิติ นอกจากนี้ค่าความเชื่อมั่นมีค่าค่อนข้างต่ำโดยแม้เพิ่มเป็น 4 ตัวแปรก็มีค่าเพียง 0.42 เท่านั้น  เป็นที่น่าสังเกตว่าความกว้างฐานเขา เป็นองค์ประกอบในเกือบทุกสมการ  อย่างไรก็ตามจากการศึกษาเบื้องต้น  พบว่าค่าความกว้างฐานเขาที่วัดโดยเครื่องสแกน 3 มิติไม่ได้ค่าที่แม่นยำเมื่อเทียบกับการวัดด้วยมือ  แสดงว่ากระบือเพศเมียอายุน้อยการให้คะแนนพิจารณาจะมีความแปรปรวนสูง  สอดคล้องกับการพิจารณาความงามมักจะกล่าวถึงความสวยงามในกระบือเพศผู้
เป็นหลัก

ในการศึกษาความงามของกระบือเพศเมียอายุมากกว่า 3 ปี  พบว่าความเชื่อมั่นสูงสุดมีค่า 0.66 เมื่อพิจารณาเฉพาะความกว้างสะโพก  และเมื่อเพิ่มความยาวของลำตัว  ค่าความเชื่อมั่นเป็น 0.71 แต่จะเพิ่มสูงขึ้นเพียงเล็กน้อยเมื่อพิจารณาเพิ่มตัวแปรสามและสี่  ดังนั้นความกว้างสะโพกและความยาวลำตัวเป็นปัจจัยสำคัญที่ปราชญ์และนักวิชาการนำมาประเมินความงามกระบืออายุมากกว่า 3 ปี  สอดคล้องกับคุณลักษณะของแม่พันธุ์ที่ดีที่ควรมีสะโพกกว้างและลำตัวขนาดใหญ่

ในการศึกษาครั้งนี้พบว่ามีกระบือที่อยู่ในข่ายกระบืองาม คือมีกระบือที่มีคะแนนตกอยู่ใน 80% อยู่ 25 ตัว ในกลุ่มกระบือทีทำการศึกษารวมทั้งสิ้น 188 ตัว  กระบือดังกล่าวเป็นกระบือพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ที่มีประวัติการประกวด เกือบทั้งสิ้น  กระบือสวยเหล่านี้มีราคาสูง คือมีราคาในเพศผู้อย่างน้อย 50,000 – 150,000 บาท และมีราคาในเพศเมียอย่างน้อย 70,000 – 120,000 บาท  กระบือพ่อพันธุ์ส่วนหนึ่งเป็นกระบือของศูนย์บำรุงพันธุ์สัตว์ เช่น SRS 42/38 อยู่ที่ศูนย์บำรุงพันธุ์สัตว์ จังหวัดสุรินทร์  ส่วนกระบือบางตัว เช่น สิงโต เป็นกระบือของเกษตรกรเอง และมีการใช้ประโยชน์ฯ  คือ ใช้รับจ้างผสมกระบือเพศเมียของเกษตรกรอื่น ๆ  จากการศึกษาของทองสุข 2535   (11)  โดยเปรียบเทียบการผสมกระบือสามแบบ คือ การปล่อยตามธรรมชาติ  การใช้บริการผสมเทียม และการใช้บริการพ่อพันธุ์ พบว่าการผสมแบบหลังสุด  มีอัตราการเกิดของลูกมากสุดคือ 71.43 % ต่อปีและมีอัตราการแท้งน้อยที่สุดคือ 4.76% ต่อปี (ศึกษาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531-2535) ในปัจจุบันเกษตรกรก็ยังนิยมการใช้บริการพ่อพันธุ์ของเกษตรกรในหมู่บ้าน  โดยยอมจ่ายค่าตอบแทนครั้งละ 500 – 1,000 บาท  ข้อเสียของการใช้กระบือพ่อพันธุ์ของเกษตรกรคืออาจเป็นการแพร่โรคระบาด (โรคแท้งติดต่อ)ได้ง่าย และพ่อพันธุ์อาจไม่ยอมผสมกับแม่พันธุ์   ดังนั้นในกรณีดังกล่าวจึงต้องใช้การผสมเทียม  อย่างไรก็ตามการผสมเทียมก็มีข้อจำกัดคือ แม่พันธุ์มักเป็นสัดเงียบ หรือแสดงอาการเป็นสัดไม่ชัดเจน  นอกจากนี้เกษตรกรจังหวัดอุทัยธานียังมีการตื่นตัวในการอนุรักษ์กระบืองามโดยได้จัดตั้งหมู่บ้านควายงามทำให้มีกระบืองามจำนวนมากอยู่ที่จังหวัดอุทัยธานี  แม้ว่าปัจจุบันกระบือจะมิได้ถูกนำมาเป็นแหล่งแรงงานเช่นเดียวกับในอดีต  กระบือบางส่วนถูกนำไปขายเป็นแหล่งอาหารโปรตีน และที่สำคัญคือกระบือถือเป็นแหล่งเงินออมของครอบครัว (11) การผสมแล้วได้ลูกกระบือที่มีลักษณะงามเหมือนกับสินทรัพย์ในครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก  โดยเฉลี่ยกระบือที่ไม่ได้คัดสายพันธุ์อายุ ประมาณ 2 – 3 ปี เมื่อขายสู่ตลาดจะมีราคาประมาณ 12,000 – 17,000บาท ขึ้นกับปริมาณน้ำหนักเนื้อ และความพึงพอใจของเกษตรกรกับพ่อค้า  แต่ถ้ามีกระบือสวยที่มีอายุเท่ากันจะไม่ถูกส่งเป็นกระบือเนื้อแต่จะถูกเปลี่ยนเป็นกระบือพ่อแม่พันธุ์ที่มีราคาแพงขึ้นคือมีราคาถึงตัวละ 25,000 – 50,000 บาท เป็นที่น่าสังเกตว่าเนื้อของกระบือปลักเป็นเนื้อที่มีคุณภาพที่ดีเมื่อเทียบกับกระบือแม่น้ำมูร่าห์ โดยพบว่าจะมีปริมาณของน้ำแทรกอยู่ในเนื้อน้อยกว่า (18, 19)  จากการศึกษาครั้งนี้แสดงค่าเฉลี่ย ค่าสูงสุดและค่าต่ำสุดของกระบือทั้ง 25 ตัว ที่จัดลำดับแล้ว  กระบือเพศเมียและผู้ที่โตเต็มที่มีความสูงเกินกว่า 140 เซนติเมตร รอบอก 240 เซนติเมตร ส่วนความยาวลำตัวในเพศผู้จะยาวกว่าเพศเมีย  โดยความยาวเพศผู้มีความยาว  141  ซม.และเพศเมียมีความยาว  131 ซม. ความยาวของเส้นรอบวงเข่าในเพศผู้จะใหญ่กว่าเพศเมียเล็กน้อย  ส่วนความยาวเขาโดยเฉพาะความกว้างกลางเขาในเพศผู้ใหญ่กว่าเพศเมียคือ 70 และ 64 เซนติเมตร ตามลำดับ

จากที่ได้ศึกษาถึงการประเมินกระบือสวยแล้วนั้น  ยังเป็นที่ทราบดีว่าปราชญ์และนักวิชาการได้ประเมินสิ่งอื่น ๆ เข้าไปด้วย เช่น อารมณ์ ท่าทางการเดิน ลักษณะเขา สีผิวและขน ลักษณะตา  เป็นต้น  ได้มีผู้รายงานไว้มากมาย (6, 9, 10, 11, 12, 13, 14, 17)ซึ่งได้กล่าวถึงในบทที่ 5

จากการศึกษาครั้งนี้พบว่าในการทำนายน้ำหนักทั้งหมดโดยไม่แยกเพศ  พบค่าความเชื่อมั่นสูงสุด เมื่อพิจารณาความยาวลำตัวระหว่างไหล่ถึงสะโพก (R2 เท่ากับ 0.68) เมื่อเพิ่มเส้นรอบอกพบค่าความเชื่อมั่นสูงถึง 0.76 และไม่เพิ่มขึ้นเมื่อเพิ่มตัวแปรสามและสี่ จากการศึกษาของสุวัจน์ (2517)(20) ศึกษาในกระบือปลักคละเพศตั้งแต่หย่านมถึงโตเต็มวัยพบว่าน้ำหนักตัวสัมพันธ์กับเส้นรอบอกโดยมีค่าถึง 0.94  และยังสอดคล้องกับการศึกษาในกระบือ 2-4 ปี ของนิกรและคณะ (21)  ที่พบค่าสหสัมพันธ์ในเส้นรอบอกมีค่าเท่ากับ 0.97 ความสูงเท่ากับ 0.83 และความยาวลำตัวเท่ากับ 0.75 และของอัญชลีและคณะ(22)  ที่ศึกษาในกระบืออายุ 1-2 ปี  พบค่าสัมประสิทธิ์ การตัดสินใจ (R2)  มีค่า 0.94   ส่วนการศึกษาของ  Chanthalakana  และคณะ (1983)(23) พบสหสัมพันธ์ มีค่า 0.74, 0.82 และ0.56 ตามลำดับ   ในขณะที่ศรชัยและคณะ 2544 (24) ศึกษาในกระบือปลักคละเพศเมื่อหย่านมในอายุ 2 ปีพบค่าสหสัมพันธ์เท่ากับ 0.93, 0.87 และ0.88 ตามลำดับ

เมื่อศึกษาน้ำหนักในกระบือเพศผู้  ให้ผลเช่นเดียวกันกับการศึกษาอื่นคือ ตัวแปรเส้น
รอบอกมีความเชื่อมั่นสูงสุด(0.78) และเมื่อเพิ่มความกว้างสะโพก ความกว้างไหล่ หรือความยาวลำตัว ลักษณะใดลักษณะหนึ่งจะมีค่าความเชื่อมั่นสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย  จึงสามารถใช้สมการทำนายน้ำหนักโดยใช้สมการที่มีความยาวรอบอกเท่านั้น  สอดคล้องกับการศึกษาของนิกรและคณะ(2546) (18)  นอกจากนี้สุนทรและประภัสสร(2554) (26) ยังได้ศึกษาในกระบือคละเพศพบว่าค่าสหสัมพันธ์ทางพันธุกรรม (Genetic correlation) ระหว่างน้ำหนักตัวกับความยาวรอบอกสูงในกระบือแรกเกิดและหย่านม ดังนั้นจึงมีการใช้ความยาวรอบอกมาประเมินน้ำหนักโดยการใช้สายวัดเพื่อประเมินน้ำหนักในพื้นที่ (27)

ในการศึกษากระบือเพศเมียพบความเชื่อมั่นสูงสุดเมื่อใช้ความกว้างบั้นท้าย (0.78) และเมื่อเพิ่มปัจจัยที่สองเช่นช่วงไหล่ ความยาวลำตัว ความกว้างสะโพก เส้นรอบอก หรือความสูง ค่าความเชื่อมั่นจะเพิ่มสูงขึ้น (0.79-0.86)  แต่เมื่อเพิ่มตัวแปรที่สามหรือสี่ความเชื่อมั่นจะเพิ่มสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย  เป็นที่น่าสังเกตุว่าความกว้างบั้นท้ายมีอยู่ในทุกสมการ  ดังนั้นจะเห็นว่าในกระบือเพศเมียน้ำหนักส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับความกว้างของบั้นท้าย  มากกว่าความสูงและเส้นรอบอก  แต่เพียงอย่างเดียว ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากในกระบือเพศเมีย มีความสูงและเส้นรอบอกน้อยกว่าเพศผู้

เมื่อคิดค่าความสัมพันธ์ polynomial มีค่า R2 สูงกว่าค่า simple regression ผลดังกล่าวสอดคล้องกับ ราตรี และคณะ(2549) (25)  ที่ศึกษาความสัมพันธ์ของน้ำหนักและเส้นรอบอกในกระบือพันธ์มูร่าห์และกระบือปลักทั้งเพศผู้และเพศเมีย  โดยพบค่า polynomial ได้ค่าสูงกว่าการใช้ linear และ exponential regression  ถ้าใช้ตัวแปรเดียวในการประเมินน้ำหนักสามารถใช้สมการ polynomial แทน simple linear regression ทำให้ได้ค่าน้ำหนักที่แม่นยำกว่า  อย่างไรก็ตามในการที่จะนำสมการทำนายน้ำหนักตัวกระบือโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการใช้เส้นรอบอกของกระบือไปใช้ในภาคสนามนั้น ผู้ใช้จะต้องคำนึงถึงข้อจำกัดของสมการว่ามีความเหมาะสมกับอายุ ขนาด และเพศของกระบือประกอบด้วย ทั้งนี้โดยเฉพาะในกระบือที่มีอายุมากกว่า 4 ปีขึ้นไป ข้อจำกัดในเรื่องของเพศจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การทำนายน้ำหนักเกิดความผิดพลาดได้ เนื่องจากการพัฒนาการในส่วนโครงสร้างร่างกายที่แตกต่างกันมาก ดังนั้นสมการที่เหมาะสมน่าจะแยกออกจากกันให้ชัดเจนระหว่างเพศและช่วงอายุ

โดยสรุปการศึกษาครั้งนี้แสดงข้อมูลค่าที่ได้จากการวัดจุดในกระบือเพศผู้และเพศเมีย  ในช่วงอายุที่แตกต่างกัน  ทั้งในประชากรกระบือที่ทำการศึกษาจาก 5 จังหวัดและในกระบือพ่อแม่พันธุ์ชั้นดี  การศึกษาครั้งนี้ทำให้ทราบถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักวิชาการและปราชญ์ประเมินกระบืองาม  ในแต่ละช่วงอายุของแต่ละเพศด้วย  ความเชื่อมั่นในการประเมินกระบืองามไม่สามารถประเมินค่าได้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์  เนื่องจากการพิจารณากระบืองามต้องพิจารณาจากปัจจัยอื่น นอกเหนือจากการวัดด้วยเครื่องสแกน 3 มิติ เช่น ลักษณะเขา สีขน ลักษณะตา อารมณ์ เป็นต้น  นอกจากนี้ค่าที่วัดได้จากเครื่องสแกน 3 มิติยังสามารถนำไปใช้สร้างสมการทำนายน้ำหนักในกระบือทั้งสองเพศ   ในการศึกษาครั้งนี้พบค่าความเชื่อมั่นแม้จะมีนัยสำคัญทางสถิติ  แต่มีค่าต่ำกว่าในหลายการศึกษา ทั้งนี้เป็นผลเนื่องมาจากจำนวนกระบือที่ใช้ในการศึกษามีจำนวนน้อยกว่าการศึกษาอื่น