การศึกษาครั้งนี้ได้รับใบอนุญาต การดำเนินการศึกษาในสัตว์ของคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ระยะที่ 1 ศึกษาลักษณะที่ดีตามอุดมคติ ทำการคัดเลือกลักษณะที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการใช้งาน โดยจะมีการรวบรวมข้อมูลจากนักวิชาการร่วมกับปราชญ์ที่มีความรู้ในการคัดเลือกกระบือที่สวย นำมาจัดทำลักษณะเด่นในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และให้คะแนนหรือค่าน้ำหนักของแต่ละส่วน

ระยะที่ 2 (ระยะเวลา 1 ปี) ทำการศึกษาในกระบือปลัก (Bubalus bubalis) เพศผู้และเพศเมียจำนวน 175 ตัว ตัว อายุ 1 ปีขึ้นไป

ทำการตรวจวัดค่าลักษณะเด่นต่าง ๆ ที่ได้กำหนดไว้ในระยะที่ 1 โดยการวัดจุดต่าง ๆ
จะทำการวัดจุดสำคัญโดยการใช้สายวัด และไม้บรรทัดความสูง (ภาพที่ 1) เปรียบเทียบกับเครื่องสแกนกระบือสามมิติ เมื่อได้ข้อมูลที่เชื่อถือได้ จะทำการวัดลักษณะทางกายวิภาคโดยใช้เครื่องสแกนแบบ 3 มิติ

ภาพที่ 1 แสดงการวัดด้วยไม้บรรทัดและสายวัด

วิธีการวัดด้วยเครื่องสแกนสามมิติ ประกอบไปด้วยสองขั้นตอนหลักๆ คือ 1. ขั้นตอนการสแกน และ 2. ขั้นตอนการวัดภาพร่าง

ในขั้นตอนของการสแกน เครื่องมือหลักที่ใช้ในการวัดภาพร่างคือ เครื่องสแกนกระบือ 3 มิติ ซึ่งประกอบด้วย กล้องแบบ web camera จำนวน 16 ตัว และเครื่องวิดีโอโปรเจคเตอร์ 6 ชุด (ภาพที่ 2) และใช้เครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย 1 เครื่อง เป็นตัวควบคุมจังหวะการทำงานของระบบ โดยจะส่งคำสั่งการสั่งฉายแพตเทิร์นและคำสั่งถ่ายภาพ ผ่านเครือข่ายไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ลูกข่ายทั้ง 3 เครื่องที่ต่อกล้องและวิดีโอโปรเจคเตอร์ไว้ (ภาพที่ 3)

ภาพที่ 2 กล้องและวิดีโอโปรเจคเตอร์

ภาพที่ 3 เครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายและลูกข่ายควบคุมกล้องและวิดีโอโปรเจคเตอร์

.

ก่อนเข้าเครื่องสแกนสามมิติ กระบือจะถูกนำมาติดมาร์คเกอร์เพื่อเป็นตัวช่วยบอกตำแหน่งจุดที่ต้องการจะวัดให้ชัดเจน หลังจากนั้นจึงนำกระบือเข้าเครื่องสแกนฯ โดยใช้เวลา 6 วินาทีต่อการสแกนหนึ่งครั้ง และใช้เวลาประมาณ 3-5 นาทีในการประมวลผล โดยข้อมูลจะอยู่ในภาพ cloud of points เป็นแบบจำลองกระบือสามมิติ (ภาพที่ 5)

ภาพที่ 4 การติดมาร์คเกอร์บอกตำแหน่งจุดวัด

 

 

ภาพที่ 5 โมเดลกระบือแบบสามมิติในภาพ Cloud of Points

.

ในขั้นตอนของการวัดภาพร่างกระบือนั้น จะทำการวัดได้ 2 ภาพแบบ คือ การวัดจากภาพถ่ายที่ได้จากกล้องสเตอริโอ และวัดจากโมเดลสามมิติ โดยการวัดขนาดจากภาพถ่ายนั้นจะเป็นการวัดระยะระหว่างจุด 2 จุดโดยตรง ซึ่งในบางจุดที่สังเกตุเห็นได้ลำบากจะใช้มาร์คเกอร์เป็นตัวช่วยระบุตำแหน่ง เช่น ปุ่มสะโพก, ปุ่มก้นกบ ในการวัดจะคำนวณหาพิกัด x, y, z ของมาร์คเกอร์แต่ละจุดแล้วมาคำนวณหาระยะห่างของจุดเหล่านั้น ( ดังภาพ 6 )

ภาพที่ 6 การหาพิกัด x, y, z ของมาร์คเกอร์จากภาพสเตอริโอซ้าย-ขวา

สำหรับวัดจากโมเดลสามมิติ เช่น วัดเส้นรอบอก, วัดเส้นรอบเข่า จะทำการวัดโดยใช้ซอฟต์แวร์ซึ่งจะทำการวัดระยะตามเส้นทางที่วิ่งไปบนพื้นผิวของตำแหน่งที่กำหนด (ดังภาพ 7)

ภาพที่ 7 การวัดขนาดภาพร่างจากโมเดลสามมิติ

.

เครื่องสแกนสามมิติ การกำหนดจุดต่าง ๆ ที่จะทำการวัดในกระบือปลัก และเป็นจุดที่จะถูกกำหนดให้ทำการวัดด้วยเครื่องสแกนสามมิติ โดยมีจำนวน จุดที่ทำการวัดทั้งสิ้น 18 จุด ดัง ภาพที่ 8 ตารางที่ 1

ภาพที่ 8 จุดสำคัญ ๆ ที่ใช้วัดในการศึกษาครั้งนี้

ตารางที่ 1 แสดงจุดสำคัญจุดที่ใช้วัด

จุดที่สำคัญ ตำแหน่งที่วัด จุดที่วัด
A ความสูง แนวขาหน้าถึงแผงไหล่
B เส้นรอบอกด้านหน้า วัดรอบอกหลังขาหน้าทั้งสองข้าง
C ช่วงไหล่ วัดความกว้างไหล่ซ้ายและขวา เมื่อมองจากด้านบน
D ความกว้างสะโพก วัดความกว้างระหว่างปุ่มกระดูกสะโพกซ้ายและขวา เมื่อมองจากด้านบน
E ความกว้างบั้นท้าย วัดความกว้างระหว่างปุ่มกระดูกก้นกบซ้ายและขวา
F ไหล่-สะโพกซ้าย วัดความยาวเป็นเส้นตรงจากบริเวณไหล่ถึงกระดูกสะโพกซ้าย
G ไหล่-สะโพกขวา วัดความยาวเป็นเส้นตรงจากบริเวณไหล่ถึงกระดูกสะโพกขวา
H ปุ่มสะโพก-ก้นกบซ้าย วัดความยาวระหว่างปุ่มกระดูกสะโพกถึงก้นกบด้านซ้าย
I ปุ่มสะโพก-ก้นกบขวา วัดความยาวระหว่างปุ่มกระดูกสะโพกถึงก้นกบด้านขวา
J1 ไหล่-ปุ่มกระดูกท้ายซ้าย วัดความยาวระหว่างปุ่มกระดูกไหล่ถึงกระดูกก้นกบด้านซ้าย
J2 ไหล่-ปุ่มกระดูกท้ายขวา วัดความยาวระหว่างปุ่มกระดูกไหล่ถึงกระดูกก้นกบด้านขวา
K ความยาวหาง วัดความยาวตั้งแต่โคนหางจนถึงปลายพู่หาง
L เส้นรอบวงเข่า วัดเส้นรอบวงเข่าของขาหลัง(ข้างซ้าย)
M ความกว้างปลายเขา วัดความกว้างระหว่างปลายสุดของเขาซ้ายและขวา
N ความกว้างกลางเขา วัดความกว้างระหว่างส่วนกลางของเขาด้านในซ้ายและขวา
O ความกว้างฐานเขา วัดความกว้างระหว่างฐานเขาด้านในซ้ายและขวา
P ความยาวเขา วัดความยาวด้านนอกจากโคนเขาถึงปลายเขา(ข้างซ้าย)
Q เส้นจากเขา-มุมกระหม่อม วัดระยะจากปลายเขาถึงโคนเขาตรงมุมกระหม่อมเป็นเส้นตรงทางด้านใน(ข้างซ้าย)

 

 

2 การกำหนดคะแนนที่จะทำการวัดโดยนักวิชาการและปราชญ์

ได้มีการทำแบบประเมินสำหรับนักวิชาการและปราชญ์ชาวบ้านที่จะเป็นผู้ประเมินกระบือที่ทำการสแกน และให้น้ำหนักของคะแนนตามแบบประเมินดังแสดงในตัวอย่างภาพที่ 9 โดยน้ำหนักของคะแนนเป็นไปตามมาตรฐานที่มีผู้รายงานไว้ (12) โดยกำหนดคะแนนต่อไปนี้

ภาพร่างทั่วไป (รวมท่าเดิน+อารมณ์) 20 คะแนน

หัวและคอ 10 คะแนน

ส่วนหน้า 20 คะแนน

ส่วนลำตัว 12 คะแนน

ส่วนท้าย 30 คะแนน

อวัยวะสืบพันธุ์ 8 คะแนน

รวมทั้งหมด 100 คะแนน

โดยให้นักวิชาการและปราชญ์ทำเครื่องหมายในช่องที่ต้องการ โดยแบ่งเป็นหัวข้อละ 5 ระดับ แต่ละระดับมีน้ำหนักจากมากไปน้อยลดลง

คือ 100, 80, 60, 40 และ 20% ตามลำดับ

นำคะแนนเต็มในแต่ละหัวข้อมาคูณกับเปอร์เซ็นต์ที่ปราชญ์และนักวิชาการให้ได้ผลลัพธ์เป็นคะแนนของปราชญ์และนักวิชาการในหัวข้อนั้น ๆ เช่น ถ้าให้เครื่องหมายที่ ช่องดี (3) ของหัวข้อภาพร่างทั่วไป จะได้คะแนน = 0.6 X 20 = 12 คะแนน คะแนนในแต่ละหัวข้อนำมารวมกันเป็นคะแนนทั้งหมดของผู้ประเมินนั้น ๆ

ในการคิดคะแนน ถ้ามีนักวิชาการหรือปราชญ์หลายคน จะใช้คะแนนเฉลี่ย ที่ได้จากนักวิชาการ และคะแนนเฉลี่ยที่ได้จากปราชญ์ ในการประเมินกระบือแต่ละตัว

กระบือในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ นครพนม และสระแก้วจะได้รับการชั่งน้ำหนักด้วยเครื่องชั่งน้ำหนักดิจิตอล

 

 

3 การเสวนาเพื่อรวบรวมความรู้เกี่ยวกับกระบือสวยงาม

จัดให้มีการเสวนาร่วมกับเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ถึงลักษณะในอุดมคติซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการกำหนดคะแนนและมาตรฐานของกระบือที่

  1. ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์สุรินทร์
  2. จังหวัดอุทัยธานี 2 ครั้ง (ตำบลหนองไผ่แบน และอำเภอหนองขาหย่าง)
  3. จังหวัดนครพนม (อำเภอศรีสงคราม)

 

ภาพที่ 9 แสดงเกณฑ์การตัดสินของนักวิชาการและปราชญ์

4 การวิเคราะห์ข้อมูล

  1. ศึกษาความแม่นยำของการประเมินค่าวัดจากเครื่องสแกนกับการวัดจริงด้วยสายวัด
  2. ทำการ Standardized ข้อมูลเพื่อแสดงผลเป็นค่าเฉลี่ย และ Standard error ให้สามารถเปรียบเทียบลักษณะที่ต่างไปจากค่าเฉลี่ย เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบกระบือแต่ละตัวในแต่ละลักษณะได้ทั้งในเพศผู้และเพศเมียที่อายุต่าง ๆ กัน
  3. ศึกษาความสัมพันธ์ (correlation) ของลักษณะที่เป็นค่าวัด หรือ คะแนนของบางลักษณะกับคะแนนที่ได้จากปราชญ์ และนักวิชาการ
  4. รวบรวมข้อมูลที่ได้จากกระบือที่มีคะแนนดีเยี่ยมคือสูงมากกว่า 80%
  5. ศึกษาความสัมพันธ์การให้คะแนนของปราชญ์ชาวบ้านและนักวิชาการ
  6. นำข้อมูลจุดสำคัญ ๆ ที่ได้จากการวัดด้วยคอมพิวเตอร์มาประเมินน้ำหนักกระบือทั้งเพศผู้และเพศเมีย
  7. ศึกษาและรวบรวมข้อมูลของลักษณะอื่น ๆที่ไม่สามารถวัดด้วยเครื่องสแกน 3 มิติแต่นำมาใช้ในการพิจารณาของนักวิชาการและปราชญ์

 

5 สถิติที่ใช้

รายงานผลเป็นค่าเฉลี่ยค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน เปรียบเทียบข้อมูลในอายุต่าง ๆ โดยใช้ one way ANOVA และเปรียบเทียบระหว่างคู่ โดยใช้ Bonferroni ทำการประเมินการหาความสัมพันธ์โดยใช้สมการความสัมพันธ์เส้นตรงเชิงเดี่ยว(Simple linear regression) แบบเชิงซ้อน (Multiple linear regression) และ polynomial regression และหาค่าสหสัมพันธ์โดยใช้ Pearson correlation ผลการทดลองมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ หรือมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ค่า P<0.05