ชื่อโครงการวิจัย “การประเมินคะแนนรูปร่างสัมพันธ์กับค่าวัดสัดส่วนร่างกายโดยใช้เครื่องสแกน 3 มิติในกระบือปลัก”

ชื่อผู้วิจัย

ชลลดา บูรณกาล       จินตนา  อินทรมงคล   กิตติ  กุบแก้ว       ทองทวี ดีมะการ

นิกร สางห้วยไพร       สุพรชัย ฟ้ารี     กุลภัทร โพธิกนิษฐ

จุรีรัตน์ แสนโภชน์       จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ      ธีระ  ภัทราพรนันท์

ไพรัตน์  ชัยชนะดี     ศิริชัย ปริตโตทกพร      ปณิธิ ศิรอักษร

ปณิธิ พุ่มวิเศษ        วรพร  สุขุมาวาสี     เพชรรัตน์  นามพิมูล

เดือนและปีที่ทำวิจัยเสร็จ มิถุนายน  2554

บทคัดย่อ

ศึกษาการประเมินรูปร่างกระบือเมื่อวัดด้วยเครื่องสแกน 3 มิติ ในกระบือเพศผู้ 72 ตัว เพศเมีย 78 ตัว และกระบือตั้งท้อง 32 ตัว ที่จังหวัดสุรินทร์ อุทัยธานี กรุงเทพมหานคร นครพนม และสระแก้ว  พบว่าการวัดด้วยเครื่องสแกน 3 มิติมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญในทุกจุดวัดสำคัญ (18 จุด) เมื่อเปรียบเทียบกับการวัดโดยใช้ไม้บรรทัดและสายวัด ยกเว้นไม่พบความสัมพันธ์ที่ความกว้างฐานเขาเท่านั้น พบค่าเฉลี่ยความสูง  เส้นรอบอก  ความกว้างสะโพก  ความกว้างบั้นท้าย  ความยาวลำตัวจากไหล่ถึงสะโพก  หรือไหล่ถึงก้นกบ  ความยาวปุ่มสะโพกถึงก้นกบ  เส้นรอบวงเข่า  ความกว้างกลางเขา และความยาวของเขา  เพิ่มมากขึ้นตามอายุในเพศผู้  โดยจะชะลอลงเมื่ออายุ 4 -5ปีขึ้นไป ส่วนในเพศเมียได้ผลเช่นเดียวกับเพศผู้ แม้อัตราการเพิ่มสูงขึ้นจะน้อยกว่าและจะชะลอเมื่ออายุ 3-4 ปี  ในตัวเมียที่ตั้งท้องพบการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเฉพาะเส้นรอบอกเมื่อระยะการตั้งท้องมากขึ้น  ในการให้คะแนนระหว่างนักวิชาการและปราชญ์มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญในทุกส่วนของร่างกาย  เมื่อให้คะแนนเพศผู้และเพศเมีย  ยกเว้นอวัยวะสืบพันธุ์เพศเมียและบริเวณหัวและคอในเพศเมียตั้งท้อง  เมื่อทำนายคะแนนความสวยงาม พบว่ากระบือเพศผู้อายุน้อยกว่า 4 ปี  ให้ความเชื่อมั่นสูงถึง 0.57 เมื่อพิจารณาความยาวลำตัว และเส้นรอบวงเข่า   [คะแนน = (0.568 x ความยาวลำตัว) + (1.584 x เส้นรอบวงเข่า) – 77.89] แสดงว่าในกระบือเพศผู้รุ่นเล็กสามารถใช้ข้อมูลเส้นรอบวงเข่าร่วมกับความยาวลำตัวบ่งบอกแนวโน้มการเจริญเติบโตในอนาคตได้  ในการทำนายคะแนนกระบือเพศผู้อายุมากกว่า  4 ปี คะแนนความเชื่อมั่นสูงถึง 0.70 เมื่อพิจารณาเส้นรอบอก และจะสูงถึง 0.85 เมื่อเพิ่มความกว้างสะโพก [คะแนน = (0.485 x เส้นรอบอก) + (1.892 x ความกว้างสะโพก) – 156.54] แสดงว่าค่าทั้งสองบ่งชี้ความงามจากความใหญ่โตของโครงสร้างลำตัว

ในกระบือเพศเมียอายุน้อยกว่า 3 ปี พบว่าค่าความเชื่อมั่นของสมการทำนายคะแนนต่ำแม้ใช้ตัวแปร 4 ตัวก็ตาม (0.05-0.42) จึงเป็นรุ่นที่ตัดสินได้ยากและมีความคลาดเคลื่อนสูงหากใช้ค่าวัดของลักษณะเป็นเครื่องตัดสินความสวยงาม  ส่วนกระบือเพศเมียอายุมากกว่า 3 ปี ค่าความเชื่อมั่นสูงถึง 0.66 เมื่อพิจารณาตัวแปรเดี่ยวคือ ความกว้างของสะโพก  [คะแนน = 2.655 x ความกว้างของสะโพก  – 91.52] โดยค่าความเชื่อมั่นจะสูงขึ้นอีกเพียงเล็กน้อยเมื่อเพิ่มตัวแปรสอง สาม และสี่   แสดงว่าส่วนท้ายของลำตัวมีความสำคัญมากในการพิจารณาความงามของกระบือเพศเมียรุ่นใหญ่   จากการศึกษาครั้งนี้คะแนนที่ให้มักไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์    เนื่องจากใช้ลักษณะอื่นที่ไม่สามารถวัดได้จากเครื่องสแกน 3 มิติ เช่น ลักษณะตา เขา สี ขน การเดิน และอารมณ์เป็นต้นมาใช้ในการตัดสินร่วมด้วย  นอกจากนี้จุดที่ใช้วัดสามารถนำมาทำนายน้ำหนักได้ โดยพบว่าตัวแปรที่เหมาะสมในการทำนายน้ำหนักกระบือคละเพศคือ ค่าความยาวลำตัวจากกระดูกไหล่ถึงกระดูกสะโพก  หรือใช้เส้นรอบอก  หรือใช้ความกว้างสะโพก  (R2 = 0.67-0.68)   เมื่อทำการแยกเพศพบว่าสมการทำนายน้ำหนัก ในกระบือเพศผู้คือ  น้ำหนัก = (9.214 x เส้นรอบอก) – 1382.93 (R2 = 0.78)  ส่วนสมการทำนายน้ำหนักกระบือเพศเมีย คือ น้ำหนัก = (20.327 x ความกว้างบั้นท้าย) – 483.11  (R2 = 0.78)

 คำสำคัญ  คะแนนรูปร่าง ค่าวัดสัดส่วนร่างกาย เครื่องสแกน 3 มิติ กระบือปลัก