กระบือ คือ สัตว์ที่อยู่กับสังคมและวัฒนธรรมทางด้านเกษตรกรรมของไทยมาช้านาน กระบือมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งจนถึงขั้นการประกวดกระบือสวยงามซึ่งได้รับความสนใจและจัดให้มีขึ้นทุกปี และทั้งนี้แม้จะเป็นการประกวดความสวยงาม แต่จากการสืบค้นและติดต่อสอบถามกับปราชญ์ชาวบ้านและผู้เชี่ยวชาญด้านการคัดพันธุ์กระบือ พบว่าทุกลักษณะของความสวยงามตามอุดมคติที่ใช้ในการประกวดมีความสัมพันธ์กับลักษณะการให้ผลผลิต ความสมบูรณ์พันธุ์ การใช้แรงงาน และความยืนยาวของอายุการใช้งานซึ่งเป็นลักษณะทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามเกณฑ์การให้คะแนนกระบือสวยงามยังเป็นลักษณะนามธรรม ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ที่มีประสบการณ์มากมาทำการประเมินตามความดีเด่นของลักษณะ (Type classification) และประเมินคะแนนมากน้อยตามความถูกต้องของลักษณะเด่น ส่วนอีกวิธีหนึ่งเป็นการให้คะแนนแบบเส้นตรง (Linear assessment) โดยยังไม่มีผู้ศึกษาการประเมินวิธีนี้ในกระบือมาก่อน เป็นการให้คะแนนตามลักษณะที่ปรากฏ โดยไม่คำนึงถึงลักษณะในอุดมคติ ค่าที่ได้ตามมาตรวัดนำมาจัดลำดับคะแนนอีกทีหนึ่ง วิธีนี้จำเป็นต้องวัดตำแหน่งสำคัญบนร่างกายกระบือ อย่างไรก็ตามการวัดตำแหน่งสาคัญของร่างกายกระบือเพื่อประเมินส่วนที่สาคัญที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานยังมีข้อจำกัด ทั้งนี้เนื่องจากกระบือมีขนาดใหญ่และบางตัวยังไม่สามารถบังคับให้ยืนนิ่งได้นาน การวัดโดยอาศัยเทคโนโลยีการสแกน 3 มิติ โดยคอมพิวเตอร์จึงได้ถือกำเนิดขึ้นตามกระแสพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทั้งนี้เพื่อนำค่าที่ได้ไปกำหนดลักษณะที่สาคัญ และคะแนนที่จะใช้ในการตัดสิน

      ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การฝึกอบรมและถ่ายทอดองค์ความรู้การคัดเลือกกระบือพันธุ์ดีและสวยงามยังเป็นเรื่องยาก ขึ้นกับความสามารถในการรับรู้และประสบการณ์ของผู้เรียนรู้เป็นหลัก องค์ความรู้ที่ได้จากการประกวดจึงคงเผยแพร่และถ่ายทอดอยู่ในวงจำกัดในหมู่นักวิชาการและปราชญ์ผู้รู้เท่านั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตระหนักถึงความสาคัญของการคัดเลือก เพื่อปรับปรุงพันธุ์กระบือของไทยให้มีลักษณะที่ดีพร้อมเพื่อให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงกระบือไทยได้อย่างยั่งยืน จึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาองค์ความรู้ด้านการคัดลักษณะกระบือที่สวยงามเพื่อใช้เป็นพ่อ แม่พันธุ์ และการใช้งาน ซึ่งมีความสาคัญต่อผลผลิตที่ต้องการเช่น การเติบโต การใช้แรงงาน และความคงทนเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดูตามวิถีของเกษตรกรไทยให้เป็นสากล และให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถศึกษาได้ด้วยตนเอง เข้าใจ และปฏิบัติได้ง่าย โดยอาศัยเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัย เช่น อินเทอร์เน็ตเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้สู่ผู้เกี่ยวข้องได้อย่างกว้างขวาง และเกษตรกรให้สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง
ความสำคัญและที่มา   
  
   กระบือหรือที่ชาวบ้านเรียกตามคำภาษาไทยว่า “ควาย”   เป็นสัตว์ที่นำมาใช้ประโยชน์ทางการกสิกรรมมาเป็นเวลานาน ในอดีตควายใช้ในการไถนาให้ชาวนาที่มีแปลงปลูกข้าวในพื้นที่ๆมีไม่มากนัก  ควายไทยจะเป็นควายที่อยู่ในตระกูลของควายปลัก (Swamp buffalo) ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในเอเซียตอนใต้ ที่เรียกว่า “ควายปลัก” เพราะชอบนอนในปลักที่มีโคลน การนอนในปลักเป็นส่วนหนึ่งของการระบายความร้อนในสัตว์ดังกล่าว อย่างไรก็ตามสถานการณ์ของกระบือปลักในประเทศไทยน่าเป็นห่วง เนื่องมาจากจำนวนของกระบือปลักได้ลดลงอย่างมาก   มีกระบือปลักลดลงจาก 6.4 ล้านตัวในปี พ.ศ. 2525 (1)ลงเหลือเพียง 1.3 ล้านตัวในปีพ.ศ.2551 (2) สาเหตุหนึ่งที่จำนวนลดลงเนื่องมาจากการทำการเกษตรในปัจจุบันเปลี่ยนไป  เกษตรกรใช้รถไถนาที่เป็นเครื่องจักรเพิ่มมากขึ้น เพราะควายเหล็กทำงานเสร็จเร็วกว่าและสะดวกกว่า  ดังนั้นความสำคัญของกระบือจึงลดลงโดยแต่ละครอบครัวอาจจะยังเลี้ยงกระบือจำนวน 1 – 2 ตัว  โดยมิได้คำนึงถึงการขยายพันธุ์ให้ได้กระบือที่ตัวใหญ่สวยงามดังเช่นในอดีต  นอกจากนี้ลูกหลานของเกษตรกรก็มีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป โดยอาจมิได้เป็นเกษตรกรหรือชาวนาที่ปลูกข้าว  แต่มุ่งทำงานในอาชีพอื่นและละเลยความสำคัญของการทำการเกษตรโดยใช้กระบือเป็นแรงงาน  ภูมิปัญญาดั้งเดิมในการคัดเลือกควายสวยงามจึงลดน้อยลง  และกลุ่มเกษตรกรที่สนใจในการขยายพันธุ์กระบือก็ลดน้อยลงได้มากเช่นกัน  แม้ว่าในภาครัฐได้มีการประกวดกระบือแห่งชาติขึ้นทุกปี  แต่ก็มีกระบือที่จัดอยู่ในระดับสวยงามเป็นพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์จำนวนจำกัด  ดังนั้นในหลายปีที่ผ่านมาจึงมีกระบือที่มีลักษณะรูปร่างเล็กลง  ตามลักษณะดั้งเดิมที่แท้จริงของกระบือหรือควายไทย 
 
   ความสวยงามของกระบือนอกจากจะดูจากรูปร่างภายนอกส่วนประกอบหัว ลำตัว ส่วนท้าย  เขา  ดวงตา หาง อวัยวะสืบพันธุ์และอื่น ๆ สิ่งสำคัญอันดับแรก คือกระบือต้องมีรูปร่างสูงใหญ่ การประเมินกระบือสวยมีความแตกต่างจากการประเมินรูปร่างโคนม (3) เนื่องจากจุดประสงค์กระบือมีได้มีไว้ในการใช้งานมากกว่าการให้นม  ดังนั้นการวัดจุดต่าง ๆ ของกระบือเช่นความสูงและความยาวรอบอก  มีความสำคัญในการใช้ปรับปรุงพันธุ์  อย่างไรก็ตามข้อมูลดังกล่าวได้มาด้วยยากลำบากและอาจไม่เหมาะสมที่ใช้ในการวัดในพื้นที่จริง  มักใช้ความสูง ความยาวรอบอก และความยาวลำตัว  ในการประเมินรูปร่างความใหญ่โตของกระบือมากกว่าการใช้เครื่องชั่งน้ำหนักที่หาได้ยาก จึงทำให้มีฐานข้อมูลจำนวนไม่มากเกี่ยวกับระยะต่าง ๆ ที่วัดได้จาก สรีระรูปร่างของกระบือ

    จุดประสงค์ของการศึกษาในครั้งนี้เพื่อทำการวัดด้วยเครื่องสแกน 3 มิติซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลที่ไม่สามารถเก็บได้โดยการใช้สายวัดหรือไม้บรรทัด  สามารถวัดข้อมูลได้หลายจุดด้วยเวลาอันรวดเร็วและมีความแม่นยำสูง  ค่าที่ได้จากเครื่องสแกน 3 มิติจะเป็นฐานข้อมูลสำคัญที่บอกรูปร่างลักษณะ (conformation) ของกระบือในปัจจุบันในส่วนต่าง ๆ ของประเทศไทย  ค่าที่ได้จะนำมาใช้ประโยชน์ในการประเมินส่วนสำคัญ เช่น น้ำหนัก เป็นต้น  นอกจากนี้ยังจัดให้มีการสัมมนาของนักวิชาการและปราชญ์รวมทั้งเกษตรกรในพื้นที่ ให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับองค์ความรู้การคัดเลือกกระบือสวยงามที่เป็นภูมิปัญญาในอดีต  ผลของการศึกษาเชื่อว่าจะเป็นฐานข้อมูลสำคัญที่ใช้ในการปรับปรุงพันธุ์กระบือในอนาคตและมีส่วนกระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์กระบือสวยงาม  เพื่อให้อยู่คู่กับการใช้งานกับเกษตรกรไทยอีกทั้งยังช่วยเพิ่มมูลค่าของกระบือซึ่งถือเป็นทรัพย์สินที่มีราคาแพงของเกษตรกรอีกด้วย
    
    “โครงการพัฒนาฐานข้อมูลการประเมินรูปร่างกระบือ” จึงเป็นส่วนหนึ่งที่จะนำองค์ความรู้ที่ปรับเป็นสากล เข้าใจง่ายขึ้นเผยแพร่ และให้บุคคลากรได้ใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง โดยมี ศาสตราจารย์ สพ.ญ.ดร.ชลลดา บูรณกาล จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหัวหน้าโครงการฯ


    เพื่อให้การดำเนินโครงการดังกล่าวสำเร็จลุล่วงตามกระแสพระราชดาริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย เนคเทค/สวทช. ได้วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและจัดสร้างเครื่องมือ “การประเมินรูปร่างกระบือโดยใช้เครื่องสแกนแบบสามมิติ (3D scanning)” มาสนับสนุนภารกิจสำคัญของโครงการฯ การทำงานของเครื่องมือนี้ทำงานโดยอาศัยหลักการการวัดระยะทางในการหาระยะความลึกของวัตถุตามตำแหน่งต่างๆ บนวัตถุทีละจุดไปเรื่อยๆ จนได้ข้อมูลครอบคลุมร่างกายทั้ง 360 องศา 
         
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
 
  1. มีฐานข้อมูลลักษณะที่สำคัญที่บ่งชี้ถึงการเป็นกระบือที่ดีเพื่อประโยชน์ในการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์ของกระบือไทย
  2. สามารถประเมินลักษณะที่สำคัญจากการใช้คอมพิวเตอร์ เปรียบเทียบกับการประเมินลักษณะภายนอกด้วยสายตา และจัดทำลักษณะเด่นที่ใช้ประกอบการพิจารณากระบือลักษณะดี เพื่อเผยแพร่ให้ผู้ที่สนใจและเกษตรกรต่อไป
  3. พัฒนาเครื่องสแกนกระบือให้ใช้ในพื้นที่ได้จริง โดยสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในปศุสัตว์ชนิดอื่นๆที่มีการใช้ค่าวัดเพื่อปรับปรุงลักษณะรูปร่าง เช่น โคนม แพะ เป็นต้น
  4. ได้องค์ความรู้การดูลักษณะกระบือที่ดีจากปราชญ์ชาวบ้าน